ผลเฉียบพลันของการเดินจงกรมต่อระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไทย
สมเกียรติ แสงวัฒนา, ดวงรัตน์ ชลศฤงคาร*
Division of Cardiology, Department of Medicine, Faculty of Medicine, King Chulalongkorn Memorial Hospital, Chulalongkorn University, Bangkok, Thailand; E mail address: c.doungrat@yahoo.com
บทคัดย่อ
ที่มาของการวิจัย: ความเครียดทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นระบบประสาทซิมพาติก การทำสมาธิสามารถลดความเครียดส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง การทำสมาธิด้วยวิธีการเดินจงกรมเป็นการทำสมาธิวิธีหนึ่งช่วยให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย เกิดความสงบของจิตใจและคลายความเครียด จึงนำไปสู่สมมติฐานการวิจัยในการศึกษานี้ว่า การเดินจงกรมสามารถทำให้ความดันโลหิตลดลงได้เมื่อเปรียบเทียบกับการนั่งพักวัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการลดความดันโลหิตด้วยวิธีการเดินจงกรมกับการนั่งพักในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงวิธีการศึกษา: ผู้ป่วยนอกที่คลินิกอายุรกรรมของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีความดันโลหิตสูงระดับน้อยถึงระดับปานกลางถูกสุ่มเลือกให้ได้รับการเดินจงกรมหรือการนั่งพักวิธีใดวิธีหนึ่ง เป็นระยะเวลา 15 นาที บันทึกความดันโลหิตและอัตราการเต้นของชีพจรก่อนและหลังของกลุ่มผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ในกลุ่มที่เดินจงกรมตอบแบบสอบถามความรู้ตัวและคะแนนของสมาธิหลังจากการเดินจงกรมผลการศึกษา: ผู้ป่วยเข้าร่วมในการศึกษานี้จำนวนทั้งหมด 82 คน ช่วงระยะเวลาในการศึกษาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ถึงเดือนตุลาคม 2551 อายุผู้ป่วยตั้งแต่ 20 ถึง 65ปี อายุเฉลี่ย 57 ปี, ผู้หญิง 54 คน (65.8%) ค่าความดันโลหิตเฉลี่ย และอัตราการเต้นของชีพจรเฉลี่ยในกลุ่มที่เดินจงกรม 155±10 / 86 ±8 มิลลิเมตรปรอท, 77 ±12 ครั้งต่อนาที ตามลำดับ ค่าความดันโลหิตเฉลี่ย และอัตราการเต้นของชีพจรเฉลี่ยในกลุ่มที่นั่งพัก 155 ±11/83 ± 10 มิลลิเมตรปรอท, 74 ± 9 ครั้งต่อนาที ตามลำดับ (all p = ns) ค่าความดัน systolic ก่อนและหลังเดินจงกรมต่างกัน -3 ±8.9 มิลลิเมตรปรอท (p = 0.04) ค่าความดัน systolic ก่อนและหลังนั่งพักต่างกัน -1.9 ±6 มิลลิเมตรปรอท (p = 0.09) แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบค่าความดันsystolic BPที่ลดลงระหว่างสองกลุ่ม (p = 0.51) อัตราการเต้นของชีพจรในกลุ่มที่เดินจงกรมลดลงมากกว่ากลุ่มนั่งพัก (กลุ่มเดินจงกรม -3.4 ± 4.2 ครั้งต่อนาที, กลุ่มนั่งพัก -0.3 ± 4.1ครั้งต่อนาที (p = 0.002)) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างแบบสอบถามสมาธิในกลุ่มที่เดินจงกรมกับการลดลงของความดันโลหิตสรุป: การเดินจงกรมอาจลด systolic BP ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แต่ไม่แตกต่างจากการนั่งพัก และอัตราการเต้นของชีพจรลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับการนั่งพัก
ที่มา
วารสารโรคหัวใจ ปี 2553, April ปีที่: 23 ฉบับที่ 2 หน้า 65-73
คำสำคัญ
hypertension, Blood pressure, Walking meditation