การศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย Myasthenia Gravis ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์
ธิติมา สายสุด*, สมศักดิ์ เทียมเก่า. กรรณิการ์ คงบุญเกียรติภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
โรค myasthenia gravis (MG) เป็นโรคทางระบบประสาทที่ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการของกล้ามเนื้ออ่อนแรงปัจจุบันมีแนวทางการรักษาได้หลายแนวทาง แต่ยังไม่มีการรักษาวิธีใดที่ได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยบางรายยังต้องเผชิญกับโรคนี้ ถึงแม้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งจากผลของโรคนี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค MG และรับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2549 ถึง 1 มิถุนายน พ.ศ.2550 จำนวน 40 คน การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีศึกษาเชิงพรรณนา โดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย MG ที่ไม่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเกี่ยวกับโรค และแบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิต SF-36 แล้วนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลทางสถิติ ผู้ป่วยโรค MG เป็นหญิงร้อยละ 80 และเป็นชาย ร้อยละ 15 อายุระหว่าง 22-50 ปี อายุเฉลี่ย 35.57 ปี พบว่ามีสถานภาพสมรส ร้อยละ 67.5 การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 77.5 ว่างงานร้อยละ 57.5 รายได้เฉลี่ยของครอบครัว < 5,000 บาท/เดือน ร้อยละ 42.5 และจากแบบสำรวจสุขภาพ SF-36 พบว่า ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตต่ำมาก ทางด้าน อารมณ์และความสามารถในการทำงาน หรือกิจวัตรประจำวัน คุณภาพชีวิตต่ำในด้านความมีชีวิตชีวา อารมณ์และความรู้สึกและพละกำลัง สมรรถภาพทางร่างกาย รวมถึงสุขภาพทั่วไป ส่วนในด้านความเจ็บปวดทางร่างกาย และกิจกรรมทางสังคมนั้นอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างเพศพบว่า เพศหญิงมีปัญหาด้านสมรรถภาพร่างกายมากกว่าผู้ชาย เปรียบเทียบชนิดของ MG แตกต่างกันในด้านความมีชีวิตชีวา และพละกำลัง ส่วนคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือนหรือมากกว่า ไม่แตกต่างกัน และพบว่าการทำ thymectomy คุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกันกับไม่ทำ ผู้ป่วย MG ที่ศึกษาในครั้งนี้เป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหา การศึกษาต่ำ อัตราการว่างงานสูง รายได้น้อย ต้องพึ่งพาญาติพี่น้อง เมื่อศึกษาถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพบว่า มีปัญหาทางด้านอารมณ์เศร้า ไม่มีความสุข ขาดชีวิตชีวา และพละกำลัง มองดูสุขภาพทั่วไปไม่ดี แต่ผลกระทบทางด้านความเจ็บปวดทางร่างกาย และกิจกรรมทางสังคมมีปัญหาน้อย
ที่มา
วารสารสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2552, January-March
ปีที่: 4 ฉบับที่ 1 หน้า 23-38