ประสิทธิผลของการทาฟลูออไรด์วาร์นิชโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการป้องกันโรคฟันผุในเด็กเล็ก
ขนิษฐา ดาโรจน์*, นุสรา ภูมาศ, บัณฑิต ถิ่นคำรพ, สุปรีดา อดุลยานนท์Department of Dental Public Health, Public Health Office of Ubon Ratchathani Province, Ubon Ratchathani 34190. E-mail: Kdarojn@yahoo.com
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการทาฟลูออไรด์วาร์นิช (ดูราแฟต) ในการป้องกันโรคฟันผุในเด็กเล็กที่ฟันดัดบน 4 ซี่ ในเด็กอายุเฉลี่ย 9 เดือน และติดตามผลเป็นเวลา 9 เดือน ผู้ทา 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานีอนามัย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ตัวอย่าง 120 คน เข้าสู่การทดลองโดยการสุ่ม ชุดการทดลอง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 40 คน กลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม คือกลุ่มทาฟลูออไรด์วาร์นิชทุก 3 เดือน ที่อายุเฉลี่ย 9, 12, 15 เดือน และกลุ่มทาฟลูออไรด์วาร์นิชครั้งเดียว ที่อายุเฉลี่ย 9 เดือน ทาด้วยน้ำเปล่าที่อายุเฉลี่ย 12 และ 15 เดือน ส่วนกลุ่มควบคุมทาด้วยน้ำเปล่าอย่างเดียวที่อายุเฉลี่ย 9, 12 และ 15 เดือน ตรวจติดตามผลด้วยตาเปล่าโดยใช้กระจกส่องปากช่วย เพื่อหาการเกิดโรคฟันผุทั้งแบบเป็นรูและไม่เป็นรู ที่อายุเฉลี่ย 9, 12 , 15 และ 18 เดือน โดยทันตแพทย์คนเดียว ซึ่งปรับมาตรฐานการตรวจแล้ว (แคปปา = .089) เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนอัตราอุบัติการณ์การเกิดโรคฟันผุ (ทดสอบแบบสองทาง) โดยควบคุมผลกระทบจาก จำนวนซี่ฟันที่งอก จำนวนฟันผุเริ่มต้น อายุ คราบจุลินทรีย์ พฤติกรรมการเลี้ยงดู และผู้ทาที่ต่างกัน พบว่า ถ้านับฟันผุแบบเป็นรูและไม่เป็นรู กลุ่มควบคุมและกลุ่มทาครั้งเดียว เมื่อเริ่มต้นมีสัดส่วนอัตราอุบัติการณ์การเกิดคนฟันผุสูงกว่ากลุ่มทาทุก 3 เดือน 1.6 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95: 1.2 ถึง 2.2, p = .00) และ 1.6 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95: 1.2 ถึง 2.1, p = .00) และด้านฟันผุแบบเป็นรูสูงกว่า 4.6 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95: 1.1 ถึง 19.6, P = .04) และ 4.1 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95: 1.2 ถึง 14.6, p = .03) ตามลำดับ และพบว่า การทาฟลูออไรด์วาร์นิชครั้งเดียวเมื่อเริ่มต้นไม่แตกต่างจากการทาน้ำเปล่าทั้งการเกิดฟันผุแบบเป็นรูและไม่เป็นรู (p>.05)
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2548, January-April
ปีที่: 55 ฉบับที่ 1 หน้า 1-13
คำสำคัญ
Caries prevention, Earyly childhood caries, Fluoride varnish