ผลการใช้ยา ondansetron 4 มิลลิกรัมต่อการเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัดในผู้เข้ารับการผ่าตัดคลอดที่ได้รับยาระงับปวด morphine ผ่านช่องน้ำไขสันหลัง
ลุนณี เทียงดาห์, สุภาวดี นวลอ่อน*, สุมามาลย์ บุตรไทย
Department of Anesthesiology, Mahasarakham Hospital, Mahasarakham
บทคัดย่อ
                ในปัจจุบัน วิธีการระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาผ่านช่องน้ำไขสันหลัง (spinal anesthesia) ในหญิงที่มารับการผ่าตัดคลอดเป็นวิธีที่ทำกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อมารดาและทารกต่ำกว่าการดมยาสลบ และเพื่อการระงับปวดหลังผ่าตัด วิสัญญีแพทย์มักจะฉีดยาแก้ปวด morphine ร่วมด้วย ซึ่งออกฤทธิ์ระงับปวดได้นาน 8-24 ชั่วโมง อุบัติการณ์ของการเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัด (postoperative nausea and vomiting: PONV) ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้พบประมาณร้อยละ60-80 ทำให้เกิดแรงตึงขึ้นบริเวณแผลผ่าตัด เพิ่มอาการเลือดออกใต้ผิวหนังบริเวณผ่าตัดอาจทำให้แผลผ่าตัดแยกได้ เพิ่มความดันในสมอง ในลูกตา สำลักเศษอาหารเข้าหลอดลม และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องพักฟื้นนานและเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย มีการศึกษาประสิทธิภาพ ขนาดยาและผลข้างเคียงของยา ondansetron ในการป้องกันและรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดกันอย่างแพร่หลาย ขนาดยาที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาอาการ คือ 4-8 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำ                การศึกษาผลการใช้ยา ondansetron ขนาด 4 มิลลิกรัม ต่อการเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัดในผู้เข้ารับการผ่าตัดคลอดที่ได้รับยาระงับปวด morphine ขนาด 0.2 มิลลิกรัมผ่านช่องไขสันหลัง ทำการศึกษาแบบ prospective randomized controlled trial ในหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับการผ่าตัดคลอดชนิดไม่เร่งด่วนในห้องผ่าตัดโรงพยาบาลมหาสารคาม จำนวน 56 ราย ASA status 2 ใช้วิธีสุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลาก แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ราย กลุ่มทดลองได้รับยา ondansetron ขนาด 4 มิลลิกรัม ปริมาตร 2 มิลลิลิตรและกลุ่มควบคุม (placebo) ได้รับน้ำเกลือ 2 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำทันทีหลังตัดสายสะดือทารก เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และสังเกตอาการคลื่นไส้และอาเจียน พร้อมลงบันทึกอาการตั้งแต่ห้องพักฟื้นจนถึง 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดที่หอผู้ป่วย ผลการศึกษาพบอุบัติการณ์ การเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัดในกลุ่มที่ได้รับยา ondansetron จำนวน 8 ราย (ร้อยละ 28.60) ในกลุ่ม placebo จำนวน 19 ราย (ร้อยละ 67.90) และพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 (p-value = 0.003) สรุปผลการศึกษาการให้ยา ondansetron 4 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำทันทีหลังตัดสายสะดือทารก ในผู้เข้ารับการผ่าตัดคลอดที่ได้รับยาชา bupivacaine และยาระงับปวด morphine ผ่านช่องน้ำไขสันหลัง สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัดได้ดีกว่ากลุ่ม placebo จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำ ondansetron ขนาด 4 มิลลิกรัม มาใช้ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังผ่าตัดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากอาการดังกล่าว
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี ปี 2552, January-April ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 95-100