ผลแบบทันทีของการนวดไทยในการบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยปวดศีรษะจากความเครียดแบบ Episodic tension-type headache
Uraiwon Chatchawan*, กรรณิการ์ คงบุญเกียรติ, ชาธิปัตย์ เครือพานิชย์, วิชัย อึงพินิจพงศ์
School of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Khon Kean University
บทคัดย่อ
อาการปวดศีรษะจากความเครียด (tension-type headache: TTH) เป็นอาการปวดศีรษะที่พบมากที่สุดในกลุ่มอาการปวดศีรษะทั้งหมด ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้ป่วย การนวดไทยเป็นการรักษาทางเลือกที่ไม่ใช้ยาชนิดหนึ่งสำหรับอาการนี้ แต่ยังขาดงานวิจัยที่มีระเบียบวิจัยที่รัดกุม การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลทันทีของการนวดไทยต่อระดับความรู้สึกปวด ระดับความรู้สึกกดเจ็บ และองศาการเคลื่อนไหวของคอ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่นอนพักในผู้ที่มีอาการปวดศีรษะจากความเครียดแบบ episodic tension-type headache จำนวน 60 คน ถูกสุ่มเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยการนวดไทยหรือเข้ากลุ่มนอนพัก ผลการวิจัยพบว่าภายหลังการรักษาทันทีระดับอาการปวดศีรษะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1.97 ±1.40, 3.07 ± 1.92 คะแนน; P < 0.01) ทั้งกลุ่มนวดไทยและกลุ่มนอนพัก และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.89 คะแนน, 95 % CI อยู่ระหว่าง 0.30 ถึง 1.48; P < 0.01) สำหรับระดับความรู้สึกกดเจ็บพบว่ากลุ่มนวดไทยมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (2.14 ± 0.76 กิโลกรัม/เซนติเมตร2; P < 0.01) แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มนอนพัก และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มยังพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.46 กิโลกรัม/เซนติเมตร2, 95 % CI อยู่ระหว่าง 0.23 ถึง 0.70; P < 0.01) นอกจากนี้กลุ่มนวดไทยจะมีการเพิ่มขึ้นขององศาการเคลื่อนไหวของคอมากกว่ากลุ่มนอนพักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) จากผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่า การนวดไทยสามารถช่วยบรรเทาอาการปวด และทำให้ตัวแปรที่สัมพันธ์กับอาการปวดศีรษะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในผู้ป่วยปวดศีรษะจากความเครียด
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2554, January-April ปีที่: 23 ฉบับที่ 1 หน้า 57-70
คำสำคัญ
Traditional Thai massage, Tension-type headache, นวดไทย, ปวดศีรษะจากความเครียด