การเปรียบเทียบการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ผลิตในประเทศไทยกับวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันนำเข้าในเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งของอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา: การศึกษาภาคสนาม
ประสิทธิ์ แซ่ห่อ
Pakchongnana Hospital, Pakchong, Nakhonratchasima
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ผลิตในประเทศไทยเทียบกับวัสดุที่นำเข้าจากต่างประเทศ บนฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ในสภาวะภาคสนาม กลุ่มตัวอย่างคือฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งของเด็กนักเรียนอายุ 6-7 ปี จำนวน 156 คู่ ที่มีลักษณะตามเกณฑ์คัดเลือกและฟันทั้งสองซี่อยู่ในขากรรไกรเดียวกัน การศึกษากำหนดให้ฟันข้างหนึ่งได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยพรีโวแคร์ (กลุ่มทดลอง) อีกข้างหนึ่งได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยคอนไซส์ (กลุ่มควบคุม) ตามตารางสุ่ม เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข 5 คน (ได้รับการสอนโดยผู้ชำนาญ) ทำการเคลือบหลุมร่องฟันตามวิธีมาตรฐานโดยใช้เก้าอี้สนามและชุดทันตกรรมเคลือนที่ ติดตามผลการยึดติดของวัสดุที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันโดยทันตแพทย์เมื่อเวลาผ่านไป 3 และ 6 เดือน ผลการศึกษาพบว่าระยะเวลา 3 เดือน วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันพรีโวแคร์ มีการยึดติดอย่างสมบูรณ์คิดเป็นร้อยละ 93.3 ส่วนวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันคอนไซส์มีการยึดติดอย่างสมบูรณ์คิดเป็นร้อยละ 91.9 ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05 ความแตกต่างของอัตราการยึดติดระหว่างวัสดุสองชนิดมีค่าเท่ากับร้อยละ 1.34 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95: -3.4-6.1) ติดตามผล 6 เดือนพบว่า วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันพรีโวแคร์มีการยึดติดอย่างสมบูรณ์คิดเป็นร้อยละ 90.4 ส่วนวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันคอนไซส์มีการยึดติดอย่างสมบูรณ์คิดเป็นร้อยละ 91.1 ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p >0.05) ความแตกต่างของอัตราการยึดติดระหว่างวัสดุสองชนิดมีค่าเท่ากับร้อยละ 0.6 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95: -6.9 -5.5) สรุปผลการศึกษาพบว่าวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ผลิตในประเทศมีประสิทธิภาพยึดติดเทียบเท่ากับวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลชลบุรี ปี 2551, May-August ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 209-214
คำสำคัญ
Sealant, Retension