ผลของการให้สานน้ำทางหลอดเลือดดำ 2 ชนิด ต่อระดับสารเคมีในเลือดผู้ป่วยไข้เลือดออก
นพดลธ์ พงศ์รุจิกร
Dapartment of Pediatrics, Samut Prakan Hospital
บทคัดย่อ
                การรักษาผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อไข้เลือดออกในระยะวิกฤตที่มีความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้น ซึ่งไม่สามารถดื่มน้ำเกลือแร่ได้ คือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ การศึกษานี้เป็นการศึกษาชนิดไปข้างหน้าแบบสุ่ม มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลต่อระดับสารเคมีในเลือดของการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ตั้งแต่พบว่าเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร (ตรวจนับเม็ดเลือดทุกวันในผู้ที่มีไข้ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป) เปรียบเทียบสารน้ำ 2 ชนิด ระหว่าง D5/NSS กับ DAR ในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อไข้เลือดออกในระยะวิกฤต 160 ราย ที่เขารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรมโรงพยาบาลสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – ธันวาคม พ.ศ.2551 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มไข้เดงกี 71 ราย  (D5/NSS 31 ราย และ DAR 40 ราย) กลุ่มไข้เลือดออกเดงกี 69 ราย (D5/NSS 33 ราย และ DAR 36 ราย) และกลุ่มไข้เลือดออกเดงกีที่ช็อก 20 ราย (D5/NSS 11 ราย และ DAR 9 ราย) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มไข้เดงกี ไม่ว่าจะได้รับ D5/NSS หรือ DAR ไม่พบการลดลงในเลือดของระดับเฉลี่ยของเกลือแร่ อัลบูมินและโคเลสเตอรอล กลุ่มไข้เลือดออก ในผู้ที่ได้รับ D5/NSS พบว่ามีระดับเฉลี่ยของแคลเซียม อัลบูมิน และโคเลสเตอรอล ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนผู้ที่ได้รับ DAR พบการลดลงของระดับเฉลี่ยของแคลเซียม และอัลบูมินอย่างมีนัยสำคัญ แต่ระดับเฉลี่ยของโคเลสเตอรอลพบการลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญที่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้ง 2 กลุ่มนี้ สามารถให้การรักษาด้วย D5/NSS หรือ DAR ได้โดยไม่มีอาการจากความผิดปกติของระดับเกลือแร่จนต้องได้รับการแก้ไข กลุ่มไข้เลือดออกที่ช็อก พบระดับเฉลี่ยของแคลเซียม อัลบูมิน และโคเลสเตอรอล ต่ำกว่าค่าปกติ (แคลเซียม≤ 8.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อัลบูมิน ≤3.5 กรัมต่อเดซิลิตร โคเลสเตอรอล ≤  120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ตั้งแต่วันแรกที่เกล็ดเลือด ≤100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับ DAR มีระดับเฉลี่ยของสารเหล่านี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญช้ากว่า D5/NSS สรุป ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้เลือดออกระยะวิกฤต ที่ไม่ช็อก สามารถให้การรักษาด้วย D5/NSS หรือ DAR ได้ โดยไม่มีอาการจากความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในเลือด การพบระดับของสารเคมีในเลือดที่ต่ำกว่าปกติ (แคลเซียม ≤8.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อัลบูมิน ≤3.5 กรัมต่อเดซิลิตร โคเลสเตอรอล ≤120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ในผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่วันแรกที่เข้าระยะวิกฤต (เกร็ดเลือด ≤100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) อาจเป็นตัวทำนายการเกิดภาวะช็อกได้ และการรักษาด้วย DAR ทำให้ระดับของสารเหล่านี้ลดลงช้ากว่า D5/NSS อาจช่วยให้ร่างกายมีเวลาปรับตัวจากการรั่วของพลาสมาในภาวะช็อกได้
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2552, June ปีที่: 34 ฉบับที่ 6 หน้า 436-443
คำสำคัญ
Dengue, Electrolyte, fluid, Shock, ช็อก, สารน้ำ, เกลือแร่, เด็ก, ไข้เลือดออก