ผลของโปรแกรมการจัดการกับอาการด้วยตนเองต่อการกำเริบของอาการทางจิตในผู้ที่เป็นโรคจิตเภทเรื้อรัง
จินตนา ยูนิพันธุ์, สุดาพร สถิตยุทธการ, สุรีพร ธนศิลป์*
Faculty of Nursing, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand
บทคัดย่อ
บทนำ: ปัญหาการกำเริบของโรคในผู้ป่วยจิตเภทเป็นปัญหาที่สำคัญ และพบได้บ่อย การกำเริบของโรคเป็นผลให้ผู้ป่วยต้องประสบกับความทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และต้องกลับเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก ผู้ป่วยเหล่านี้ขาดความสามารถในการดูแลตนเองในการจัดการกับอาการทางจิต เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะเกิดการกำเริบของโรค ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้นำความรู้นี้ไปพัฒนาโปรแกรมการจัดการกับอาการทางจิตด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการกำเริบของอาการทางจิตสำหรับผู้ป่วยจิตเภทขึ้น วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินผลของโปรแกรมการจัดการกับอาการด้วยตนเองในการป้องกันการกำเริบของอาการทางจิตในกลุ่มผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยเปรียบเทียบอาการทางจิตและการกำเริบของ อาการในผู้ป่วยที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมการจัดการกับอาการด้วยตนเองและการพยาบาลตามปกติ เทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างเดียวสถานที่ที่ทำการศึกษา: แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจิตเวชรูปแบบการวิจัย: การศึกษาเชิงทดลองผู้ป่วยที่ได้ทำการศึกษา: ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่เข้ารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก จำนวนทั้งหมด 80 ราย วิธีการศึกษา: แบ่งผู้ป่วยเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้วิธีการสุ่มด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเก็บรวบรวมข้อมูลคือ กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมโปรแกรมการจัดการกับอาการทางจิตด้วยตนเอง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การประเมินความต้องการและการวางแผน 2.การเตรียมความพร้อมเพื่อการจัดการกับอาการด้วยตนเอง 3.การปฏิบัติการจัดการกับอาการด้วยตนเอง และ 4.การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติ และการพยาบาลตามปกติส่วนในกลุ่มควบคุมจะได้รับการพยาบาลตามปกติเพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินอาการทางจิตฉบับย่อ โดยใช้คะแนนอาการทางบวกเป็นเกณฑ์ในการประเมินอาการกำเริบของโรค การเก็บข้อมูลครั้งแรกจะประเมินในวันที่กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มได้ตกลงยินยอมเข้าร่วมในโปรแกรมเป็นคะแนนพื้นฐานสำหรับเปรียบเทียบกับข้อมูลครั้งที่สองกลุ่มทดลองจะประเมินอาการทางจิตอีกครั้งจากสิ้นสุดโปรแกรม ไปแล้ว 1 เดือน ส่วนกลุ่มควบคุมจะประเมินคะแนนอาการทางจิตห่างจากครั้งแรก 10 สัปดาห์ผลการศึกษา: ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมการจัดการกับอาการด้วยตนเองต่อการกำเริบของอาการทางจิตในผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทมีค่าเฉลี่ยของคะแนนอาการทางจิตน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพบว่าสัดส่วนของการกำเริบของอาการทางจิตของกลุ่มควบคุมมีความแตกต่างจากกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05วิจารณ์และสรุป: ผลการศึกษาครั้งนี้ แสดงถึงประสิทธิภาพของโปรแกรมการจัดการกับอาการด้วยตนเองในการป้องกันการกำเริบของอาการทางจิตในผู้ที่ป่วยในโรคจิตเภท ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าสามารถนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในปฏิบัติการพยาบาลจิตเวชในชุมชน
ที่มา
จุฬาลงกรณ์เวชสาร ปี 2553, September-October ปีที่: 54 ฉบับที่ 5 หน้า 449-465
คำสำคัญ
ผู้ป่วยจิตเภท, Schizophrenic patient, Psychotic relapse, Symptom self-management, การกำเริบของอาการทางจิต, การจัดการกับอาการ