ประสิทธิภาพของ naloxone 0.4 มก. ที่ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ ในการป้องกันอาการคันในผู้ป่วยที่มาทำการผ่าตัดคลอดบุตร ภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึก โดยวิธีฉีดยาชาร่วมกับการให้มอร์ฟีนเข้าทางช่องไขสันหลัง
Chinachoti T, กรุณา ภาตั้งใจจริง, ชมพูนุท ปธนสมิทธิ์, ธัชวรรณ จิระติวานนท์*, พัชรียา นิวัฒน์ภูมินทร์, ภาวิณี ปางทิพย์อำไพ
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Sirijaj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: การระงับความรู้สึกด้วยวิธีฉีดยาชาร่วมกับยาในกลุ่ม opioid เข้าทางช่องไขสันหลัง เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในการผ่าตัดคลอดบุตร เนื่องจากสามารถระงับปวดหลังผ่าตัดได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารยาดังกล่าว สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การกดการหายใจ คัน คลื่นไส้อาเจียน หรือปัสสาวะไม่ออกได้ การศึกษานี้เป็นการศึกษา ประสิทธิภาพของ naloxone 0.4 มก. ที่ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ ในการป้องกันอาการคันในผู้ป่วยที่มาทำการผ่าตัดคลอดบุตร ภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึก โดยวิธีฉีดยาชาร่วมกับการให้มอร์ฟีนเข้าทางช่องไขสันหลัง วิธีการ: เป็นการศึกษาแบบ double-blind randomized controlled trial ในผู้ป่วยตั้งครรภ์ ที่มารับการผ่าตัดคลอดบุตรภายใต้การฉีดยาชาร่วมกับมอร์ฟีน 0.2 มก.ทางช่องไขสันหลัง โดยผู้ป่วยกลุ่มศึกษาจะได้รับ naloxone 0.4 มก. ทางกล้ามเนื้อในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับน้ำเกลือในปริมาณเท่ากัน บันทึกคะแนนการคัน, การคลื่นไส้อาเจียน, คะแนนความปวด และสังเกตการณ์หายใจ ในชั่วโมงที่ 1, 4, 8 และ 24 หลังได้รับยาผลการศึกษา: ผู้ป่วยตั้งครรภ์ 60 คน ได้เข้าร่วมในการศึกษา โดยไม่พบความแตกต่างในคะแนนการคันในชั่วโมงที่ 1, 4, 8 และ 24 ของทั้ง 2 กลุ่ม เช่นเดียวกับคะแนนการคลื่นไส้อาเจียน และคะแนนความปวด ไม่มีผู้ป่วยที่มีลักษณะของการกดการหายใจสรุป: anloxone 0.4 มก.ที่ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ ไม่สามารถลดอัตราการเกิดอาการคันในผู้ป่วยที่มาทำการผ่าตัดคลอดบุตร ภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึก โดยวิธีฉีดยาชาร่วมกับการให้มอร์ฟีนเข้าทางช่องไขสันหลังได้
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2553, July-September ปีที่: 36 ฉบับที่ 3 หน้า 191-200
คำสำคัญ
Cesarean section, intrathecal morphine, pruritus, Naloxone, การให้มอร์ฟีนทางช่องไขสันหลัง, นาล็อกโซน, ผ่าตัดคลอดบุตร, ภาวะคัน