เปรียบเทียบผลทันทีระหว่างการทำ single manipulation กับ single mobilization ที่บริเวณกระดูกสันหลังระดับอกในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง
ธวัชชัย สุวรรณโท, รุ้งทิพย์ พันธุเมธากุล, ยอดชาย บุญประกอบ, สุภาภรณ์ ผดุงกิจ, ปรีดา อารยาวิชานนท์
Physical Therapy Program, Graduate School, Khon Kean University, Khon Kean 40002, E-mail: rungthip@kku.com
บทคัดย่อ
กลุ่มอาการปวดคอเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยทำงาน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนมหาศาล การรักษาในปัจจุบันได้มีการใช้การดัดดึง(manipulation) หรือการเคลื่อนไหวข้อต่อ (mobilization) ที่บริเวณกระดูกสันหลังระดับอก ซึ่งพบว่าให้ผลที่ดีในการรักษาอาการปวดคอ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาใดที่ทำการเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างการทำ manipulation กับการทำ mobilization ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอเรื้อรังอย่างชัดเจน จุดประสงค์หลักของการศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบผลทันทีของการทำ single manipulation กับ single mobilization ที่บริเวณกระดูกสันหลังระดับอกในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง อาสาสมัครที่เข้าร่วมการวิจัยในครั้งนี้จำนวน 24 คน โดยอาสาสมัครจะถูกสุ่มแบ่งออก เป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ได้รับการรักษาโดยการทำ single thoracic manipulation และ single thoracic mobilization หลังจากนั้นจะทำการวัดองศาการเคลื่อนไหวของคอ (ROM) โดยใช้เครื่อง Cervical Range of Motion (CROM) และวัดระดับอาการปวดขณะพักโดยใช้แถบวัดอาการปวด (Visual Analog Scale: VAS) ก่อนและหลังการรักษาทั้งสองกลุ่ม ผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยขององศาการ เคลื่อนไหวของคอก่อนและหลังการรักษาของกลุ่ม single thoracic manipulation และ single thoracic mobilization เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกทิศทางการเคลื่อนไหว (p < 0.01 และ p < 0.05 ตามลำดับ) และค่าเฉลี่ยของระดับอาการปวดขณะพักก่อนและหลังการรักษาของกลุ่ม single thoracic manipulation ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.004) แต่ไม่แตกต่างกันในกลุ่ม single thoracic mobilization เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างกลุ่มขององศาการเคลื่อนไหวของคอและระดับอาการปวดขณะพักหลังการรักษา พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลที่ได้สรุปว่าทั้งการทำ single thoracic manipulation และ single thoracic mobilization สามารถเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของคอในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2553, May-August ปีที่: 32 ฉบับที่ 2 หน้า 62-72
คำสำคัญ
Chronic mechanical neck pain, Single thoracic manipulation, Single thoracic mobilization