การกระตุ้นไฟฟ้าด้วยตนเองที่บ้านเพิ่มการทำงานของแขนและมือในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกระยะเรื้อรัง: การศึกษานำร่อง
วัลภา ไตรทิพย์, มงคล วิบูลรังสรรค์, จงจินตน์ รัตนาภินันท์ชัย
Department of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Chiang Mai University, Chiang Mai 50200, E-mail: asijrttn@chiangmai.ac.th
บทคัดย่อ
ความบกพร่องของการเคลื่อนไหวของแขนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง การฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของแขนในแผนกกายภาพบำบัดมักถูกจำกัด เนื่องจากระยะเวลาการให้การรักษาและปัญหาค่าใช้จ่าย การรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยกระตุ้นไฟฟ้าที่บ้านอาจช่วยกระตุ้นการฟื้นสภาพการเคลื่อนไหวของแขนได้ดีขึ้น การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบถึงความเป็นไปได้ในการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นเอง และเพื่อศึกษาผลของการกระตุ้นไฟฟ้าด้วยตนเองที่บ้านร่วมกับการออกกำลังกายแบบเฉพาะเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายแบบเฉพาะเพียงอย่างเดียวต่อการเคลื่อนไหวของแขนในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกระยะเรื้อรัง ผู้วิจัยออกแบบและผลิตเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าซึ่งมีราคาถูกเพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองใช้ฝึกการเคลื่อนไหวของแขนด้วยตนเองที่บ้าน อาสาสมัครผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 16 คน ถูกสุ่มเพื่อแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นไฟฟ้าร่วมกับการออกกำลังกายแบบเฉพาะ (กลุ่มทดลอง) และกลุ่มที่ได้รับการออกกำลังกายแบบเฉพาะเพียงอย่างเดียว (กลุ่มควบคุม) ตัวแปรของการศึกษา คือ 1) modified Wolf Motor Function Test (mWMFT) ซึ่งประกอบด้วย 1.1) เวลาที่ใช้ในการ เคลื่อนไหว (time completed tasks of mWMFT; mWMFT-sec) และ 1.2) ระดับความสามารถ (functional ability of mWMFT; mWMFT-FA) 2) คะแนนจาก การประเมิน Motor Assessment Scale (MAS) ซึ่งประกอบด้วย 2.1) คะแนนความสามารถของแขน (upper arm function of Motor Assessment Scale, MAS-UA) และ 2.2) คะแนนความสามารถของมือ (hand movements of Motor Assessment Scale; MAS-H) 3) ช่วงการเคลื่อนไหวเมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวด้วยตนเอง (active range of motion; AROM) ของข้อไหล่ข้อศอกและข้อมือ 4) ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ elbow flexors และ extensors โดยใช้ modified Ashworth scale และ 5) การรับความรู้สึกสัมผัสและความเจ็บปวดการประเมินตัวแปร ทั้งหมดกระทำ 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มฝึกในวันแรกของการให้โปรแกรมการฝึก และ 1 วันหลังเสร็จสิ้นการฝึกเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยแต่ละคนฝึกวันละ 1 ชั่วโมง/วัน 5 วัน/สัปดาห์ การเปรียบเทียบภายในกลุ่มวิเคราะห์โดยใช้สถิติ Friedman test และ Wilcoxon Signed Rank test สำหรับการวิเคราะห์ post hoc การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังจากสิ้นสุดการรักษา 4 สัปดาห์ วิเคราะห์โดยใช้ Mann-Whitney U test ทุกตัวแปรไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติระหว่างการประเมินซ้ำ 2 ครั้งก่อนทำการฝึกของ ทั้งสองกลุ่ม การเปรียบเทียบค่าตัวแปรก่อนฝึกระหว่างกลุ่มพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน หลังการฝึกครบ 4 สัปดาห์ พบว่ามีเพียงกลุ่มทดลองที่มีmWMFT ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อเทียบกับก่อนได้รับการฝึก การเปรียบเทียบระหว่างสองกลุ่มพบว่ากลุ่มทดลองดีขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุม ทั้งเวลาที่ใช้ในการทดสอบ mWMFT (ลดลง -150.7ฑ127.6 เทียบกับ -30.3ฑ67.7 วินาที สำหรับกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ตามลำดับ) และคะแนนความสามารถในการทดสอบ mWMFT (เพิ่มขึ้น +3.5±2.5 เทียบกับ+2.5±4.5 คะแนน สำหรับกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตามลำดับ) ส่วนกลุ่มควบคุมพบว่า AROM ของข้อไหล่และข้อมือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (+14.55±22.8 องศา; P=0.012 และ +6.1±6.5 องศา; P=0.028 สำหรับข้อไหล่และข้อมือ ตามลำดับ) ทั้งนี้ค่า AROM ของข้อไหล่และข้อมือ ในกลุ่มทดลองก็มีค่าเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (+10.5±15.1 องศา; P=0.063 และ +6.1±8.1 องศา; P=0.068 สำหรับข้อไหล่ และข้อมือตามลำดับ) ตัวแปรอื่นไม่พบการเปลี่ยนแปลงหลังจากสิ้นสุดการรักษา การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นไฟฟ้าด้วยตนเองที่บ้านร่วมกับการออกกำลังกายแบบเฉพาะเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อการลดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของแขนในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกระยะเรื้อรัง
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2553, January-April ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 1-12
คำสำคัญ
Chronic stroke, Functional electrical stimulation, Home-based electrical stimulation, Task-specific exercise, Upper limb function