ผลของการฝึกการทรงตัวด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มและด้วยเครื่องฝึกการทรงตัวในผู้สูงอายุไทยเพศหญิง
สายธิดา ลาภอนันตสิน, วรรณิศา คุ้มบ้านพัชร, วิภา มณีไสย, สุขจิตรา คงความสุขDivision of Physical Therapy, Faculty of Health Science, Srinakharinwirot University,Rangsit-Nakhonnayok Rd., Ongkarak, Nakhonnayok, 26120, Email: saitida@swu.ac.th
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการพัฒนาสมรรถภาพการทรงตัวของผู้สูงอายุด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มที่ออกแบบโดยผู้วิจัย ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนมาจากรูปแบบการฝึกของเครื่องฝึกการทรงตัวที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าร่วมการวิจัยประกอบด้วย ผู้สูงอายุเพศหญิงสุขภาพดีอายุเฉลี่ย 70.93 ±7.74 ปี จำนวน 30 คน สุ่มแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ 1)กลุ่มที่ฝึกด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่ม (GE), 2) กลุ่มที่ฝึกด้วยเครื่องฝึกการทรงตัวที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ (CD) และ 3) กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ฝึก โดยที่กลุ่ม GE และ CD ได้รับการฝึกนาน 4 สัปดาห์ (30 นาที/วัน, 3 วัน/สัปดาห์) โปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มประกอบด้วยกิจกรรมการย่ำเท้าอยู่กับที่ ยืนเขย่งปลายเท้า รับ-ส่งลูกบอลในทิศทางต่างๆ และการยืนบนกระดานทรงตัว โปรแกรมการฝึกด้วยเครื่องฝึกการทรงตัวที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยรูปแบบ ต่างๆคือ limit of stability, sequence-mobilitymarching, front-back weight shifting in tandem standing และ platform perturbation (toe-up-down) โดยทุกรูปแบบจะมี visual feedback ให้ผู้ฝึกรับรู้ปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวขณะฝึกอาสาสมัครได้รับการประเมินสมรรถภาพการทรงตัวด้วย Berg balance scale (BBS), Timed up and go test (TUG) และ Functional reach test (FR test) ก่อนฝึกและหลังฝึก ณ สัปดาห์ที่ 2 (wk2) และ 4 (wk4) ผลของวิธีการฝึกและระยะเวลาในการฝึกต่อสมรรถภาพการทรงตัว(ค่า BBS, TUG และ FR test) ได้นำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติ two-way ANOVA mixed model และ Post hoc test ด้วย Bonferroni ผลการศึกษาพบว่า ก่อนการฝึก ค่า BBS, TUG และ FR test ของทั้งสามกลุ่มไม่แตกต่างกัน ภายหลังการฝึกพบค่า TUG ใน wk2 และ wk4 ของทั้งกลุ่ม GE และ CD เร็วกว่ากลุ่มควบคุม (p=0.035) ค่าคะแนน BBS ใน wk2 และ wk4 ของกลุ่ม GE และ ใน wk4 ของกลุ่ม CD สูงกว่ากลุ่มควบคุม(p<0.05) ส่วนค่า FR test มีเพียงกลุ่ม CD เท่านั้นที่มากกว่ากลุ่มควบคุมใน wk4 (p=0.043) อย่างไรก็ตาม FR test, BBS, และ TUG ของกลุ่ม GE และ CD ไม่แตกต่างกันภายหลังการฝึก ดังนั้น การฝึกทั้งสองโปรแกรมช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทรงตัวที่จำเป็นในกิจวัตรประจำวันและในการเดินของผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จาก BBS และ TUG ที่ดีขึ้นหลังการฝึก แต่การฝึกด้วยเครื่องช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทรงตัวในขณะเอื้อมไปด้านหน้าได้ชัดเจนกว่า แม้ว่าการฝึกด้วยเครื่องที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะมีผลที่ดีกว่าแต่ทางปฏิบัติในสภาพจริงของชุมชน การให้โปรแกรมออกกำลังกายแบบกลุ่มสามารถทำได้ง่าย ประหยัดและทั่วถึงสำหรับกลุ่มคนจำนวนมาก
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2552, September-December
ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 112-122
คำสำคัญ
Training, elderly, Balance, Computerized balance training device, Group exercise