ผลของการออกกำลังกายขนาดความหนักปานกลางที่บ้านในการลดความดันโลหิตของผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตเกือบสูง
จอม สุวรรณโณ, จิราภรณ์ สรรพวีรวงศ์, ปุณยวีร์ ประเสริฐไทย*
Walailak University School of Nursing
บทคัดย่อ
ภาวะความดันโลหิตเกือบสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงของการเกิดความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายเป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผลในการควบคุมระดับความดันโลหิตและลดความเสี่ยงดังกล่าว การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมนี้เป็นการทดสอบผลของการออกกำลังกายขนาดความหนักปานกลางที่บ้านในการลดความดันโลหิตของผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตเกือบสูง สุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่าง 60 ราย จากผู้ใหญ่ในชุมชนชนบท ที่มีภาวะความดันโลหิตเกือบสูง 311 ราย แบ่งเป็นกลุ่มออกกำลังกาย (n = 30) และกลุ่มออกแรงปกติ (n = 30) กลุ่มออกกำลังกายเลือกวิธีการออกกำลังกายขนาดความหนักปานกลางที่บ้าน โดยกำหนดเป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดที่ร้อยละ 60-70 ใช้วิธีการออกกำลังกายที่เลือกเอง โดยการเดินเร็ว วิ่งเหยาะ รำพลอง หรือปั่นจักรยาน วันละ 30-45 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ประเมินผลลัพธ์ความดันโลหิตในสัปดาห์ที่ 1, 2, 3 และ 4 เปรียบเทียบกับกลุ่มออกแรงปกติ พบว่า กลุ่มออกกำลังกายมีระดับความดันซิสทอลิกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 3 (119.17±7.87 กับ 123.18±4.47, t = -2.43, p < 0.01) และสัปดาห์ที่ 4 (119.05±7.55 กับ 123.45±5.35, t = -2.60, p < 0.01) เช่นเดียวกับความดันไดแอสทอลิกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 3 (75.56±4.66 กับ 77.64±4.32, t = -1.79, p <0.05) และสัปดาห์ที่ 4 (74.72±4.85 กับ 77.62±5.08, t = -2.25, p < 0.05) การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ พบว่า กลุ่มออกกำลังกายมี ระดับความดันโลหิตทั้ง ซิสทอลิกและไดแอสทอลิกลดลงและต่ำกว่ากลุ่มออกแรงตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01)ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายขนาดความหนักปานกลางเป็นวิธีการที่เหมาะสมและนำไปใช้ได้ผลในการป้องกันและลดความเสี่ยงของผู้ใหญ่ในชุมชนที่มีภาวะความดันโลหิตเกือบสูง
ที่มา
วารสารสภาการพยาบาล ปี 2553, October-December ปีที่: 25 ฉบับที่ 4 หน้า 80-95
คำสำคัญ
Home-based exercise, Neuman Nursing Model, Prehypertension, การออกกำลังกายที่บ้าน, ความดันโลหิตเกือบสูง, ทฤษฎีการพยาบาลของนิวแมน