ผลของการป้องกันการสูญเสียความร้อนโดยการใช้ชุดพลาสติกและพลาสติกครอบเตียงทารกต่อการป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกเกิดก่อนกำหนด
บุศรา แสงสว่าง, รุ้งตวรรณ์ ช้อยจอหอ*, ศศิธร เหลี่ยมพชระ, เยาวลักษณ์ เสรีเสถียร
Labor Room Unit, Rajavithi Hospital
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เพื่อศึกษาผลของการป้องกันการสูญเสียความร้อนโดยการใช้ชุดพลาสติกต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกเกิดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่างเป็นทารกเกิดก่อนกำหนด มารดามีอายุครรภ์เมื่อแรกคลอดตั้งแต่ 28 - 36 สัปดาห์ เลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด สุ่มเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองอย่างละ 30 ราย เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของมารดาและทารก แบบบันทึกอุณหภูมิกายทารก และแบบบันทึกอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เครื่องมือในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ ปรอทวัดอุณหภูมิทารก ปรอทวัดอุณหภูมิมารดาชุดพลาสติก ถุงพลาสติกใส และพลาสติกครอบเตียงทารก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการทดสอบไคสแควร์ ฟิชเชอร์ และการทดสอบค่าทีผลการวิจัย พบว่าทารกเกิดก่อนกำหนดในกลุ่มทดลองที่ได้รับการป้องกันการสูญเสียความร้อนโดยการสวมชุดพลาสติกภายหลังคลอดทันทีร่วมกับการพยาบาลตามปกติไม่มีอุบัติการณ์การเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำเมื่อแรกรับไว้ในหออภิบาลทารกแรกเกิด ในขณะที่กลุ่มควบคุม มีอุบัติการณ์การเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำร้อยละ 16.7 และทารกแรกเกิดก่อนกำหนดในกลุ่มทดลองมีอุณหภูมิกายเฉลี่ยเมื่อแรกรับไว้ในหออภิบาลทารกแรกเกิด สูงกว่าทารกในกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01)ข้อเสนอแนะบุคลากรในหน่วยห้องคลอดควรนำชุดพลาสติกนี้ไปใช้ในการให้ความอบอุ่นและการเคลื่อนย้ายทารกเกิดก่อนกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำ
ที่มา
วารสารสภาการพยาบาล ปี 2553, July-September ปีที่: 25 ฉบับที่ 3 หน้า 11-24
คำสำคัญ
Heat loss prevention, Hypothermia, Plastic dress, Plasticcovered crib, Preterm infant, การป้องกันการสูญเสียความร้อน, ชุดพลาสติก, ทารกเกิดก่อนกำหนด, พลาสติกครอบเตียง, ภาวะอุณหภูมิกายต่ำ