ผลของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยเปรียบเทียบระหว่างเทคนิคการผ่าตัดแบบตัดผ่านเอ็นที่ใช้ในการเหยียดเข่าและตัดผ่านกล้ามเนื้อเหนือเข่า
พฤกษ์ ไชยกิจ, สุรพจน์ เมฆนาวิน*
Department of Orthopaedics, BMA Medical College and Vajira Hospital
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยด้วยวิธี limited medical parapatellar approach กับวิธี limited midvastus approachรูปแบบการวิจัย: การศึกษาแบบสุ่มปกปิดด้านเดียวแบบมีกลุ่มเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่าง: ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล จำนวน 44 ราย ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2551วิธีดำเนินการวิจัย: ผู้ป่วยที่ตกลงเข้าร่วมการวิจัยจะได้รับการจับฉลากสุ่มเลือกที่จะได้รับการผ่าตัดด้วยวิธี limited medical parapatellar (LMPP) หรือ limited midvastus approach (LMV) โดยที่ผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มใด ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มจะได้รับการดูแลรักษาหลังผ่าตัดแบบเดียวกัน โดยจะได้รับการประเมินในเรื่องของความเจ็บปวดหลังผ่าตัด ความสามารถในการเหยียดเข่าได้สุดเอง และช่วงการเคลื่อนไหวของเข่าหลังผ่าตัดตัววัดที่สำคัญ: ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดในวันที่ 1 และ 2 วันที่ผู้ป่วยสามารถเหยียดเข้าได้สุดเอง ช่วงการเคลื่อนไหวของเข่าในสัปดาห์ที่ 1 และ 6 หลังผ่าตัดผลการวิจัย: ผู้ป่วย 21 ราย ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธี LMPP และ 23 ราย ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธี LMV โดยผู้ป่วยสองกลุ่ม มีข้อมูลในด้านเพศ อายุ ดัชนีมวลกาย มุมความผิดรูปของข้อเข่า มุมที่เหยียดเข่าไม่ได้สุด ระยะเวลาการผ่าตัด และการเสียเลือด ไม่แตกต่างกัน ผลการผ่าตัดก็ไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างวิธีการผ่าตัดทั้งสองวิธี ในส่วนของความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดในวันที่ 1 โดยคะแนนความปวดของกลุ่ม LMPP เท่ากับ 5.9 และกลุ่ม LMV เท่ากับ 5.8 (p-value = 0.926) และวันที่ 2 โดยคะแนนของกลุ่ม LMPP เท่ากับ 3.7 และกลุ่ม LMV เท่ากับ 4.3 (p-value = 0.226) วันที่ผู้ป่วยสามารถเหยียดเข่าได้สุดเองในกลุ่ม LMPP อยู่ที่ 2.1 วัน และกลุ่ม LMV อยู่ที่ 2.0 วัน (p-value = 0.471) ช่วงการเคลื่อนไหวของเข่า ในสัปดาห์ที่ 1 ของกลุ่ม LMPP เป็น 88.8° ของกลุ่ม LMV เป็น 84.3° (p-value = 0.065) และสัปดาห์ที่ 6 กลุ่ม LMPP เป็น 113.8° กลุ่ม LMV เป็น 106.7° (p-value = 0.112)สรุป: การผ่าตัดทั้งสองวิธี ให้ผลการรักษาที่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แพทย์ผู้ผ่าตัดอาจเลือกวิธีได้ตามความถนัดของแพทย์ผู้ผ่าตัด
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2553, September-December ปีที่: 54 ฉบับที่ 3 หน้า 251-259
คำสำคัญ
Limited medical parapatellar approach, Limited midvastus approach, Minimal invasive total knee arthroplasty