การใช้ Hydroxyzine ในการป้องกันอาการคันและคลื่นไส้อาเจียนจากมอร์ฟีนที่ให้ทางช่องน้ำไขสันหลังในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้องที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง
Visalyaputra S, นฤนาท โลมะรัตน์*, ปริญญาภรณ์ จันทริมา, ปวีนัส รุ่งวัฒนะกิจ, พรทิพย์ ยินดีเหมาะ, ลัดดา เพิ่มผลประเสริฐ, หัชพร เขียวบ้านยาง, อัมพัน เนตรพิสุทธิ์
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล:  การผสมมอร์ฟีนกับยาชาเฉพาะที่ฉีดเข้าช่องน้ำไขสันหลัง เป็นวิธีการระงับปวดที่ดี แต่การให้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายประการทั้งอาการคลื่นไส้อาเจียนและอาการคัน ซึ่งการรักษาอาการคันนี้ มีการให้การรักษาหลายวิธีแต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ การศึกษานี้จึงได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของ hydroxyzine ใน การป้องกันอาการคันที่เกิดจากการให้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่มารับการรักษาผ่าตัดเอามดลูกออกทางหน้าท้องที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาชาเฉพาะที่และมอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง (ไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง ASA I-II จำนวน 80 คน) โดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 40 คน โดยวิธีการสุ่ม กลุ่มศึกษาได้รับยา bydroxyzine 25 มก. จำนวน 3 เม็ด รับประทานก่อนการผ่าตัด ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับยาเลียนแบบจำนวน 3 เม็ด ประเมินอาการคัน คลื่นไส้อาเจียนและความง่วงซึมในระหว่างอยู่ในห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้นและหอผู้ป่วย จนครบ 48 ชั่วโมง หลังจากได้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลังผลการศึกษา: พบว่าการป้องกันอาการคันที่เกิดจากการให้มอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลังภายใน 48 ชั่วโมงในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มควบคุมมีผู้ป่วยที่มีคะแนนอาการคัน 0-1 ร้อยละ 67.50% ในขณะที่กลุ่ม hydroxyzine มีผู้ป่วยที่มีคะแนนอาการคัน 0-1 ร้อยละ 70% (p = 0.80) นอกจากนี้พบผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนพบมากที่สุดหลังจากที่ผู้ป่วยได้ยามอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง 7 ชั่วโมงและไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน (p = 0.17) อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกลุ่ม hydroxyzine มีอาการง่วงซึมมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่เวลา 2 ชั่วโมงหลังจากได้ยามอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลัง (p = 0.01) สรุป: การให้ยา hydroxyzine ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้องที่ได้รับการระงับความรู้สึกด้วยยาชาผสมมอร์ฟีนทางช่องน้ำไขสันหลังไม่สามารถช่วยป้องกันอาการคัน คลื่นไส้และอาเจียนจากมอร์ฟีนได้
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2552, October-December ปีที่: 35 ฉบับที่ 4 หน้า 259-267
คำสำคัญ
intrathecal morphine, Hydroxyzine, Pruritus prevention, การป้องกันการคัน, การให้มอร์ฟีนในน้ำไขสันหลัง, ไฮดรอกไซซีน