การพัฒนาฐานข้อมูลคุณภาพชีวิตและผลของการรักษาต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
จีริสุดา คำสีเขียว, จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์, ธิติ วีระปรียากูร, นุจรี ประทีปะวณิช จอห์นส, อารีวรรณ เชี่ยวชาญวัฒนา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างฐานข้อมูลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและประเมินผลกระทบของการรักษาต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สร้างและพัฒนาฐานข้อมูลคุณภาพชีวิต และระยะที่ 2 เก็บข้อมูลและประเมินผลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทำการเก็บข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทุกราย ที่เข้ารับการรักษาครั้งแรกที่โรงพยาบาลขอนแก่น โดยเก็บข้อมูลทุกเดือนที่รับการรักษาครบคอร์สเคมีบำบัด ข้อมูลคุณภาพชีวิตประเมินโดยใช้ functional assessment of cancer therapy-breast (FACT-B) และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์โดยใช้เกณฑ์ Common Terminology Criteria Adverse Event (CTCAE) version 3.0 วิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนนคุณภาพชีวิตระหว่าง 6 เดือนที่รับการรักษา โดยใช้ generalized linear model (GLM) มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 173 ราย อายุเฉลี่ย 50.1±12 ปี ส่วนใหญ่สมรสแล้ว (ร้อยละ 77.8) มีการศึกษาในระดับประถมหรือต่ำกว่า (ร้อยละ 9.6) ผู้ป่วย 100 ราย มีข้อมูลครบถ้วนก่อนและหลังการรักษาที่เวลา 6 เดือน ส่วนใหญ่ได้รับการรักษาแบบผสมผสาน คือ ผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดและฮอร์โมนบำบัด (ร้อยละ 37.5) คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก่อนและหลังการรักษาเดือนที่ 6 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางทุกมิติ แนวโน้มของคุณภาพชีวิตในระหว่าง 6 เดือนของการรักษาไม่แตกต่างกัน ยกเว้นมิติ breast cancer subscale (BCS) และ Trial Outcome Index (TOI) ซึ่งมีรายงานคุณภาพชีวิตดีขึ้น (p < 0.01) อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมาก ณ เดือนที่ 6 หลังจากได้รับการรักษา คือ อาการคลื่นไส้  (ร้อยละ 62.3) ปัญหาสมรรถนะ (Eastern Cooperative Oncology Group; ECOG) ร้อยละ 61.3 และชาปลายมือปลายเท้า (ร้อยละ 61.3) โดยส่วนใหญ่มีความรุนแรงอยู่ในระดับเล็กน้อย จึงสรุปได้ว่า ฐานข้อมูลคุณภาพชีวิต ช่วยให้แพทย์ทราบผลของการรักษาต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และช่วยให้สามารถติดตามและประเมินผลการรักษาในระยะยาวต่อไปได้
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2553, May-August ปีที่: 20 ฉบับที่ 2 หน้า 124-133
คำสำคัญ
Quality of life, chemotherapy, Breast cancer, Adverse events