ผลการส่งเสริมการรับรู้ความสามารถของตนเองต่อพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย
นิยม จันทร์แนม, ยูเลียนนา พงศ์ธนสาร*
กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การปรับพฤติกรรมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตเป็นเป้าหมายหนึ่งของการรักษาและฟื้นฟูสภาพ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองชนิดหนึ่ง กลุ่มทดลองก่อนหลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายก่อนและหลังได้รับการส่งเสริมการรับรู้ความสามารถของตนเอง เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลหาดใหญ่ จำนวน 43 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้ความสามารถตนเอง ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นตามกรอบแนวคิดของแบนดูราดำเนินการทั้งหมด 3 ครั้ง โดยใช้แหล่งสนับสนุน 3 วิธีคือ 1) การสังเกตจากตัวแบบบุคคล 2) ประสบการณ์ของความสำเร็จจากการลงมือกระทำ 3) การใช้คำพูดชักจูง และชุด “สื่อความรู้สัญจร” เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพ และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังส่งเสริมการรับรู้ความสามารถตนเอง ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายมีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมสุขภาพสูงสุดด้านเพศสัมพันธ์ รองลงมาเป็นด้านการสูบบุหรี่และดื่มสุราและยาเสพติด ด้านการใช้บริการทางสุขภาพด้านการปฏิบัติตนในการรักษา ด้านการจัดการกับอารมณ์และความเครียด ด้านการขับถ่าย ด้านการบริโภคอาหาร ด้านการออกกำลังกายและการพักผ่อน ตามลำดับ และค่าเฉลี่ยของคะแนนคุณภาพชีวิตสูงสุดในมิติความมีคุณค่าในตนเอง รองลงมาคือ มิติสภาพอารมณ์มิติความมั่นใจ มิติการตระหนักในอาการและมิติข้อจำกัด ตามลำดับ
ที่มา
วารสารวิชาการเขต 12 ปี 2549, January-March ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 29-41
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, พฤติกรรมสุขภาพ, Behavior toward health, Myocardial infarction patient, Promotion of self-efficacy, การส่งเสริมการรับรู้ความสามารถตนเอง, ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย