เปรียบเทียบผลของการดึงคอโดยใช้ชุดดึงคอกับการดึงโดยใช้ผ้าขนหนูต่อการยืดยาวออกของกระดูกคอ
ธนวัลย์ เตชทรัพย์อมร, สวง จงศิริ, ลดาวัลย์ ตรียะพัฒนาพร
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
                การดึงคอโดยใช้ชุดดึงคอที่บ้าน (home traction) และการดึงคอโดยใช้ผ้าขนหนู (towel neck traction) ซึ่งดัดแปลงมาจากการดึงด้วยน้ำหนักตัว (autotraction) สามารถสอนให้ผู้ป่วยปวดคอที่มีอาการร้าวลงแขนจากการที่มีรากประสาทคอถูกกดไปปฏิบัติที่บ้านได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการดึงคอโดยใช้ชุดดึงคอที่บ้าน และการดึงโดยใช้ผ้าขนหนูต่อการยืดยาวออกของกระดูกสันหลังส่วนคอ กลุ่มตัวอย่างเป็นทหารเกณฑ์ปกติ 20 คน อายุเฉลี่ย 21.85 ± 1.22 ปี น้ำหนักตัวเฉลี่ย 53.25 ±4.01 กิโลกรัม ทหารเกณฑ์แต่ละคนถูกดึงคอด้วยชุดดึงคอและด้วยผ้าขนหนู โดยการสุ่มดึงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก่อนแล้วจึงดึงด้วยวิธีหนึ่งในวันถัดไป การดึงคอจะทำในท่านอนหงาย ก้มคอ 30 องศา โดยใช้แรงดึง 10 กิโลกรัม ดึงแบบคงที่ (static) เป็นเวลา 20 นาที ผู้ถูกทดลองจะถูกถ่ายภาพรังสีของกระดูกคอทางด้านข้างทั้งก่อนและหลังการดึงคอแต่ละวิธี วัดการเปลี่ยนแปลง ความยาวของกระดูกคอโดยการวัดระยะทางระหว่างผิวด้านล่างและกระดูกคออันที่ 2 และผิวด้านบนของกระดูกคออันที่ 7 ผลการทดสอบพบว่า ความยาวของกระดูกสันหลังส่วนคอที่เพิ่มขึ้นจากการดึงคอโดยใช้ชุดดึงคอและใช้ผ้าขนหนูมีค่าไม่แตกต่างกัน โดยที่การเปลี่ยนแปลงความยาวของกระดูกคอมีค่าน้อยมาก คือการดึงคอโดยใช้ชุดดึงคอทำให้ความยาวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.92± 0.18 มม. การดึงคอโดยใช้ผ้าขนหนูทำให้ความยาวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.78± 0.12 มม. ผลการศึกษาในครั้งนี้แนะว่า การดึงกระดูกสันหลังส่วนคอด้วยผ้าขนหนูเป็นวิธีการที่ประหยัด และสามารถใช้ทดแทนการดึงคอด้วยชุดดึงคอที่บ้านได้ ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของการดึงคอด้วยผ้าขนหนูในผู้ป่วยต่อไป
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2544, May-August ปีที่: 23 ฉบับที่ 2 หน้า 49-61
คำสำคัญ
Traction, neck, Home, Cervical, Elongation