ผลของการฝึกลงน้ำหนักอย่างสมดุลต่อการทรงตัวและการเดินในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
Somporn Onla-or, Narongrat Swastikanontha
Department of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Chiang Mai University
บทคัดย่อ
                ปัญหาที่พบมากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย คือ การลงน้ำหนักที่ขาข้างอ่อนแรงน้อยกว่าปกติ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาผลของการให้โปรแกรมการฝึกลงน้ำหนักบนขาทั้งสองข้างเท่าๆ กัน ต่อความสามารถในการทรงตัวและการเดินในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่ฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดสมองจำนวนทั้งสิ้น 26 คน โดยสุ่มให้อยู่ในกลุ่มศึกษา (13 คน อายุเฉลี่ย 61 ปี) หรือกลุ่มควบคุม (13 คน อายุเฉลี่ย 58.8 ปี) กลุ่มศึกษาได้รับโปรแกรมการฝึกเพื่อกระตุ้นการลงน้ำหนักบนขาทั้งสองข้างเท่าๆ กันเป็นเวลา 20 นาทีต่อวัน นอกเหนือจากโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพทางกายภาพบำบัดที่ได้รับตามปกติ เป็นเวลา 40 นาทีต่อวัน กลุ่มควบคุมได้รับเฉพาะการฟื้นฟูสภาพทางกายภาพบำบัดตามปกติเป็นเวลา 60 นาทีต่อวัน ทำการฝึก 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ตัวแปรที่ประเมินคือ 1) เปอร์เซ็นต์การลงน้ำหนักบนขาข้างอ่อนแรงขณะยืน 2) ความเร็วในการเดิน และ 3) ความสามารถในการทรงตัว โดยทำการประเมินก่อนและหลังการให้โปรแกรมการฝึก ผลการศึกษาพบว่า ก่อนเริ่มโปรแกรมการฝึกทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันของการประเมินในทุกตัวแปร แต่เมื่อสิ้นสุดโปรแกรมการฝึกพบว่ากลุ่มศึกษามีเปอร์เซ็นต์การลงน้ำหนักบนขาข้างอ่อนแรงขณะยืนมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (กลุ่มศึกษา = 50.7 %; กลุ่มควบคุม = 38.4%; Group X Time interaction, p < 0.05) สำหรับตัวแปรอื่นๆ พบว่า กลุ่มศึกษามีแนวโน้มที่จะมีค่าการประเมินดีกว่ากลุ่มควบคุม กล่าวคือ ความเร็ว (กลุ่มควบคุม = 0.28 m/s กลุ่มศึกษา = 0.35 m/s) การทรงตัวเมื่อประเมินด้วย Berg Balance Scale (กลุ่มควบคุม = 35.7 คะแนน กลุ่มศึกษา = 41.2 คะแนน) ด้วย Timed up and Go (กลุ่มควบคุม = 30.5 s กลุ่มศึกษา = 20.1s)  แต่อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ทางสถิติไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของตัวแปรเหล่านี้ ผลการศึกษาสรุปได้ว่าโปรแกรมการฝึกทางกายภาพบำบัดที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการถ่ายน้ำหนักตัวมายังขาข้างอ่อนแรง การฝึกลงน้ำหนักที่ขาทั้งสองข้างเท่าๆ กันในขณะยืน เดิน การฝึกถ่ายน้ำหนักไปในทิศทางหน้า-หลัง  ด้านข้างซ้าย-ขวา ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองมีการลงน้ำหนักบนขาข้างอ่อนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงควรนำการฝึกลักษณะนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกเพื่อฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2548, September-December ปีที่: 27 ฉบับที่ 3 หน้า 39-51
คำสำคัญ
Stroke, โรคหลอดเลือดสมอง, Gait, Balance, การทรงตัว, Symmetrical body-weight distribution training, การฝึกลงน้ำหนักอย่างสมดุล, การเดิน