คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาว
Sasithorn Wannapong*, ฉันทิกา จันทร์เปีย, นงลักษณ์ จินตนาดิลก, บุญเพียร จันทร์วัฒนา, อัจฉรา เปรื่องเวทย์
ภาควิชาพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในโลก ในปัจจุบันมีวิทยาการก้าวหน้าเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้ผู้ป่วยบางรายสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกเกิน 5 ปี ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านประชากร ปัจจัยด้านสังคมเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสุขภาพกับคุณภาพชีวิต กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว จำนวน 200 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 6-12 ปี ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิต และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS เพื่อคำนวณร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ                ผลการวิจัยพบว่า คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับดี คุณภาพชีวิตรายด้านพบว่า ความพึงพอใจในชีวิตอยู่ในระดับดีมาก ด้านอัตมโนทัศน์ ด้านสุขภาพและการทำงานของร่างกาย ตลอดจนด้านสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับดี ปัจจัยด้านประชากร ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ได้แก่ การศึกษาของผู้ปกครอง รายได้ของครอบครัว ความรู้ของมารดาในการดูแลบุตร และสัมพันธภาพในโรงเรียน ปัจจัยด้านสุขภาพและการทำงานของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต ได้แก่ ระยะเวลาที่เจ็บป่วย และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย                ผลการวิจัยครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวควรต้องศึกษาถึงปัจจัยด้านประชากร สังคมเศรษฐกิจของผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนควรให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัวแก่บิดามารดา ในการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมทั้งแนะนำให้ผู้ป่วยเด็กได้รู้จักผู้ดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2542, July-September ปีที่: 48 ฉบับที่ 3 หน้า 163-170
คำสำคัญ
Quality of life, Child, leukemia