คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
กุสุมา คุววัฒนสัมฤทธิ์, สมพร ชินโนรส*, ยุพาพิน ศิรโพธิ์งาม
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงบรรยายเพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจตามแนวคิดความพึงพอใจในชีวิตกับความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรม และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในชีวิตกับความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมของผู้ป่วยหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ และมาตรวจตามแพทย์นัดที่คลินิกศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลโรคทรวงอกและโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 100 ราย เลือกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในชีวิตโดยรวมหลังผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจค่อนข้างสูง และมีความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมหลังผ่าตัดอยู่ในเกณฑ์ดี ความพึงพอใจในชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกหลังผ่าตัด (79 คน) กับกลุ่มตัวอย่างที่มีอาการเจ็บหน้าอกหลังผ่าตัด (21 คน) มีความพึงพอใจในชีวิตไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกมีความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมดีกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในชีวิต กับความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่มีอาการเจ็บหน้าอก มีความสัมพันธ์กันระหว่างความพึงพอใจในชีวิตกับความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่กลุ่มตัวอย่างที่มีอาการเจ็บหน้าอก ไม่พบความสัมพันธ์ดังกล่าว ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าหลังผ่าตัดผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในชีวิตค่อนข้างสูง และมีความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมในเกณฑ์ดี สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างที่ยังมีอาการเจ็บหน้าอกหลังผ่าตัด มีความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมได้ดีน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอก จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงของพยาบาลในการให้การดูแลผู้ป่วย โดยวางแผนและให้คำปรึกษาให้เหมาะสมตามสภาพของผู้ป่วย
ที่มา
วารสารวิจัยทางการพยาบาล ปี 2542, January-March ปีที่: 48 ฉบับที่ 1 หน้า 26-34
คำสำคัญ
Quality of life, Coronary artery bypass graft, Satisfaction and physical functioning