ผลของการใส่สายยางดูดสิ่งตกค้างในกระเพาะอาหารร่วมกับการฉีดยา ondansetron ในการลดอัตราการเกิดคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวช
ชวิกา พิสิฏฐศักดิ์, ธนิต วีรังคบุตร*, วรินี เล็กประเสริฐ, วิไลลักษณ์ วงษ์คำ, ศรีสุดา ไล้ทองคำ, อุไร เบญจพงศาพันธุ์
Department of Anesthesiology, Ramathibodi Hospital, Faculty of Medicine, Mahidol University, Bangkok Thailand, 10400
บทคัดย่อ
บทนำและวัตถุประสงค์: อุบัติการณ์การเกิดคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยนรีเวชนั้นพบสูงถึง ร้อยละ 54 การให้การรักษาร่วมกัน (combined therapy) ได้แก่ การใช้ยา 2 ขนานที่มาจากคนละกลุ่ม หรือใช้การรักษาอื่นที่ไม่ใช่ยาร่วมด้วยอาจป้องกันการเกิดคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดได้ดีกว่าการให้การรักษาโดยวิธีเดียว ผู้ทำการศึกษามีสมมุติฐานว่า ถ้าการบีบตัวของลำไส้ลดลงซึ่งทำให้มีสิ่งตกค้างในกระเพาะอาหารสามารถเพิ่มโอกาสการเกิดคลื่นไส้อาเจียนได้ การดูดสิ่งตกค้างออกจากกระเพาะอาหารขณะผ่าตัด ก็น่าจะลดอุบัติการณ์การเกิดคลื่นไส้อาเจียนลงได้เช่นกัน การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการให้ยา ondansetron 4 มก. ร่วมกับการใส่สายยางดูดสิ่งตกค้างในกระเพาะอาหารกับการให้ยา ondansetron 4 มก. เพียงอย่างเดียว ในการลดอัตราการเกิดคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวชวิธีดำเนินการวิจัย: ผู้เข้าร่วมการวิจัย 100 คน เป็นหญิงอายุ 15 - 60 ปี ที่เข้ารับการผ่าตัดทางนรีเวชแบบไม่ฉุกเฉิน ASA physical status I - III มีการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย และระยะเวลาในการให้การระงับความรู้สึกนานกว่า 60 นาที แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม 1 คือ กลุ่ม ondansetron และกลุ่ม 2 คือกลุ่ม ondansetron+orogastric tube (OG tube) กลุ่มละ 50 คน โดยใส่ OG tube หลังจากให้การระงับความรู้สึกและเอาออกก่อนถอดท่อหายใจ ผลการวิจัย: ไม่มีความแตกต่างของลักษณะประชากรในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม รวมทั้งปริมาณยา opioids ที่ได้รับขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด ปริมาณสารน้ำที่ได้รับ ปริมาณการเสียเลือด ยา premedication และความรู้สึกปวดหลังผ่าตัด โดยคะแนนความคลื่นไส้ (0 - 10) จำนวนครั้งที่อาเจียน จำนวนคนที่ได้รับยา metoclopramide และคะแนนความพึงพอใจ (0 - 4) ที่ห้องพักฟื้น หลังผ่าตัด 6 และ 24 ชั่วโมง ไม่มีความแตกต่างกัน อุบัติการณ์ของอาการคลื่นไส้อาเจียนจนถึง 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดในกลุ่ม 1 คือร้อยละ 54 และกลุ่ม 2 คือร้อยละ 48 (p = 0.548). สรุป: การป้องกันการเกิดคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดทางนรีเวชมีความสำคัญการใส่สายยางดูดสิ่งตกค้างในกระเพาะอาหารร่วมกับการให้ยา ondansetron 4 มก. ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวชได้เมื่อเทียบกับการให้ยาondansetron 4 มก. เพียงอย่างเดียว
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2553, April-June ปีที่: 36 ฉบับที่ 2 หน้า 138-147
คำสำคัญ
Vomiting, ondansetron, Gastric decompression, Gynecological patients, Postoperative nausea, การใส่สายยางดูดสิ่งตกค้างในกระเพาะอาหาร, คลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด, ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวช, อาเจียน