ผลกระทบของการให้ข้อมูลความเสี่ยงทางวิสัญญีแบบเป็นเอกสารแก่ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลพิจิตร
ขนิษฐา จันทร์สนิท, ธันยวีร์ ศิริโชคธนทรัพย์, ธารกมล รักจิตร, นิภา บ้านไร่, บุษกร วังพยนต์*
Division of Anesthesiology, Pichit Hospital, Thailand 66000
บทคัดย่อ
บทนำ: ปัจจุบันปัญหาแพทย์ถูกฟ้องร้องจากผู้ป่วยพบได้มากขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการรวบรวมและ ทบทวนอุบัติการณ์ภาวะแทรกซ้อนทางวิสัญญีที่อาจเกิดขึ้นได้ การยอมรับและเข้าใจในความเสี่ยง รวมทั้งการสื่อสารที่ดีกับผู้ป่วยนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจช่วยลดอัตราการฟ้องร้องลงได้ แต่ในทางตรงกันข้ามอาจเพิ่มความวิตกกังวลให้แก่ผู้ป่วยและส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยไม่ยินยอมผ่าตัดได้ จุดประสงค์:เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางวิสัญญีแบบเป็นเอกสารแก่ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งประกอบด้วย ระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วย ระดับความรู้ของผู้ป่วยในเรื่องอุบัติการณ์ภาวะแทรกซ้อนทางวิสัญญี อัตราส่วนของผู้ป่วยที่ปฏิเสธการผ่าตัดและอัตราส่วนผู้ป่วยที่ต้องการข้อมูลเช่นนี้อีก หากจำเป็นต้องได้รับการระงับความรู้สึกครั้งต่อไป วิธีการศึกษา: รูปแบบการวิจัยเป็นแบบ prospective randomized control trial (RCT) โดยมีผู้ป่วยทั้งหมด 218 ราย ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดที่มีระดับความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง และจำเป็นต้องได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วตัวที่โรงพยาบาลทั่วไป สุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มได้รับข้อมูลตามปกติ (กลุ่มควบคุม) และกลุ่มที่ได้รับข้อมูลย่างละเอียดแบบเป็นเอกสาร (กลุ่มศึกษา) ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับข้อมูลการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเช่นเดียวกัน แต่กลุ่มศึกษาได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุบัติการณ์ความเสี่ยงทางวิสัญญีดังต่อไปนี้คือ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ฟันหัก ไม่ฟื้น และหัวใจหยุดเต้น ระดับความวิตกกังวลวัดโดย Spielberger State - Trait Anxiety Inventory Score (โดย STAIX1 คือวัดความวิตกกังวลจากเหตุการณ์และ STAIX2 คือความวิตกกังวลพื้นฐาน) ระดับความรู้เกี่ยวกับอุบัติการณ์ความเสี่ยงทางวิสัญญีวัดโดย Visual Analogue Scale (VAS) วัด 3 ครั้งดังนี้ ก่อนได้รับข้อมูล หลังได้รับข้อมูล และในวันที่ 1 - 4 หลังผ่าตัด ผลการศึกษา: คงเหลือจำนวนผู้ป่วยเข้าร่วมวิจัยจำนวน 207 ราย ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันในส่วนของข้อมูลทั่วไป คือ อายุ เพศ ASA Physical status ระดับการศึกษา รายได้ ประสบการณ์ทางวิสัญญี ระดับความเสี่ยงของการผ่าตัด และเทคนิคการให้ยาระงับความรู้สึกในส่วนของระดับความวิตกกังวลพื้นฐานหรือจากเหตุการณ์ และการปฏิเสธการผ่าตัดไม่มีความแตกต่างเช่นกัน ในกลุ่มศึกษามีความรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงซึ่งพบไม่บ่อย คือ หัวใจหยุดเต้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.026) สรุป: การให้ข้อมูลความเสี่ยงทางวิสัญญีแบบเอกสารแก่ผู้ป่วยก่อนผ่าตัดเพิ่มความรู้แก่ผู้ป่วยในเรื่องหัวใจหยุดเต้น แต่ไม่เพิ่มระดับความวิตกกังวลให้แก่ผู้ป่วยมากขึ้น
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2553, April-June ปีที่: 36 ฉบับที่ 2 หน้า 97-110
คำสำคัญ
Preoperative, Anxiety, ความวิตกกังวล, Anesthetic risk - information, ก่อนผ่าตัด, ความเสี่ยงทางวิสัญญี